วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ชี้ เลิกใช้สารเคมีเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร



ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนา ที่ดิน เป็นนโยบายหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ต้องการสร้างจุดเรียนรู้ในด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร
เช่นเดียวกับสถานีพัฒนาที่ดินตรังได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาที่ดิน ในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินกระจายอยู่ทุกอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต จากการลดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตร หันมาใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งต่างๆ ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการปลูกพืชปุ๋ยสดไถกลบเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
จรัส บวชชุม” หมอดินอาสาประจำ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ถือเป็นศูนย์ฯ ต้นแบบประจำ อ.ปะเหลียน ที่สามารถพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี จนดินเสื่อมโทรม ให้กลับมาทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ เป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตสินค้าไม่พอจำหน่าย ตามแนวทางของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน
เมื่อก่อนปลูกยางพารา ใช้สารเคมีจำนวนมาก พอมาปลูกกาแฟ มังคุด หรือพืชชนิดอื่นทำให้ผลผลิตไม่ดี ปลูกไม่ขึ้นเลย เพราะดินเสื่อมโทรมอย่างมากจากการใช้สารเคมีต่อเนื่องและขาดการปรับปรุงดิน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินตรัง เข้ามาส่งเสริมถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี และคัดเลือกให้เป็นหมอดินอาสา ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบ จึงนำมาทดลองทำในพื้นที่ของตัวเองได้สำเร็จ” นายจรัส บอกถึงที่มาก่อนจะได้เป็นหมอดินอาสา
ตั้งแต่ปี 2550 หลังจากที่เป็นหมอดินอาสา ก็ได้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพราะดิน คือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ถ้าดินดี ปลูกอะไรก็ดี ใส่ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพก็ดีไปหมด แต่ถ้าดินไม่ดี จะใส่ปุ๋ยอะไรก็ไม่ดีโดยเฉพาะปุ๋ยเคมียิ่งใส่ยิ่งไม่ดี ดังนั้น ถ้าจะปลูกอะไรอย่างแรกต้องคำนึงคือเรื่องดินด้วยการนำตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหาร ค่าความเป็นกรด ด่าง จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับพืชที่ปลูก ก็จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว ไม่ต้องใส่ปุ๋ยที่เกินความต้องการของพืช
เกือบ 7 ปี ทำให้พื้นที่กว่า 3 ไร่ ได้ถูกพลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชผลที่ปลอดสารพิษได้หลากหลาย เช่น ผักกางมุ้ง กาแฟ ผักเหลียง ซึ่งผลผลิตทุกอย่างได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผักกางมุ้งที่จะนำไปวางขายเองที่ตลาดในจังหวัด ปรากฏว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ปลูกผักโดยใช้สารเคมี เอาไปวางขาย 10 ถุงก็ขายไม่หมด 
หลังจากหันหลังให้สารเคมี ทั้งเรื่องสุขภาพและรายได้มีมั่นคงขึ้น หากท่านใดสนใจอยากเข้าไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินต้นแบบแห่งนี้ ติดต่อได้ที่นายจรัส บวชชุม เลขที่ 36 หมู่ 8 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หรือติดต่อที่สถานีพัฒนาที่ดิน จ.ตรัง

ที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ มีนาคม 2558
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น