วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โอกาสข้าวไทยและอนาคตชาวนา


              อนาคตชาวนาไทยภายใต้วิกฤติพลังงานและอาหารโลก ขึ้นอยู่กับนโยบายแนวทางพัฒนาและการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดข้าวอย่างมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบครบวงจร ซึ่งการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของรัฐบาลในอนาคต จะต้องยกเลิกแนวคิดและทิศทางที่จะให้ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตเพื่อสนับสนุนผู้บริโภคและสาขาอาชีพอื่น ๆ 
              ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของนโยบายในอนาคตควรอยู่ที่ว่า “ทำอย่างไรจะยกระดับรายได้ฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น เพื่อให้ครอบครัวเกษตรกรมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น (Better Standard of Living) เทียบเท่ากับคนในสาขาอาชีพอื่น มีความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ มีชีวิตอยู่ในสังคมที่สงบสุข ได้รับการดูแลจากรัฐในด้านสวัสดิการต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ร่มเย็น และปลอดภัย” โดยผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่ผ่านมา มีข้อเสนอแนะหลายประการเพื่อให้รัฐบาลกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือ ดังนี้
๑. การเพิ่มผลผลิตข้าวไทยภายใต้พื้นที่ที่จำกัด ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น จัดทำฐานข้อมูลชาวนาทั่วประเทศ ให้ชาวนามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อการทำนาอย่างทั่วถึง การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อนำน้ำเข้าสู่ไร่นา ตลอดจนการลดต้นทุน และปัจจัยการผลิต
๒. สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดีและต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช ตลอดจนผลิตและกระจายพันธุ์ข้าวดีสู่เกษตรกรอย่างเพียงพอและทั่วถึง
๓. การพัฒนาชาวนาและสวัสดิการของชาวนา โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการสร้างและพัฒนาชาวนารุ่นใหม่โดยการให้การศึกษาอย่างครบวงจร ผลักดันให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้และข่าวสารทั้งในด้านการผลิตและด้านการตลาด เพื่อสร้างทักษะในการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดข้าวอย่างเป็นระบบ อีกทั้งมีการจัดสวัสดิการให้กับชาวนาด้วยการสนับสนุนที่ดินทำนา การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา การให้หลักประกันแก่ชาวนาในด้านการรักษาพยาบาล การศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนเลี้ยงชีพในวัยชรา เป็นต้น
๔. การสร้างเสถียรภาพด้านราคาและตลาด โดยเฉพาะในกรณีที่ข้าวมีราคาตกต่ำ ต้องเปลี่ยนจากการรับจำนำไปเป็นมาตรการและระบบอื่นที่ไม่ทำลายกลไกตลาด โดยมีเป้าหมายให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์สูงสุด รัฐใช้งบประมาณน้อยที่สุดและกลไกตลาดยังคงทำงานได้ตามระบบการค้าเสรี ลดการแทรกแซงตลาดจากภาครัฐ ควบคุมดูแลการซื้อขายให้มีความเป็นธรรม สำหรับการเจรจาเปิดตลาดข้าวตามพันธกรณี AFTA หรือตามพันธกรณีใด ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออนาคตชาวนาไทยและมีมาตรการปกป้องข้าวไทย (Safe Guard) อย่างจริงจัง
๕. การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพ การสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างองค์กรชาวนา อีกทั้งปรับปรุงบทบาทของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติให้ดำเนินการทั้งด้านการผลิตและการตลาด
๖. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวให้เป็นรูปธรรม โดยมีกรมการข้าวเป็นองค์กรกลาง ในการประสานงานเพื่อกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาข้าวไทย

ที่มา  http://click.senate.go.th/?p=4919

ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ 
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น