วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทางเลือกทางรอด' ชาวนา' ไทยปลูกข้าวต้นทุนต่ำ

        ทางเลือกทางรอด'ชาวนา'ไทยปลูกข้าวต้นทุนต่ำ - เพิ่มมูลค่าสร้างกำไรงาม : อนัญชนา สาระคูรายงาน

               แนวทางการบริหารจัดการ “ข้าว” หลังยุติโครงการรับจำนำข้าวที่ดูจะไม่เป็นผลนัก นับตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือการใช้มาตรการช่วยเหลือด้วยการลด “ต้นทุน” ด้านปัจจัยการผลิต และต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ขณะเดียวกัน ได้ปล่อยให้ราคาและตลาดข้าวเป็นไปตามกลไก โดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซงใดๆ
               ทั้งนี้ ในการประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้นำกลุ่มชาวนาครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายแกนนำชาวนาต่างนำเสนอมาตรการ โดยใช้ “ราคา” เป็นตัวชูโรง เสนอเป้าหมายการยกระดับราคาข้าวเปลือกเจ้าให้ไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000-12,000 บาท ที่ความชื้น 15% อ้างเหตุผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่า 6,000 บาทต่อไร่ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กลับเห็นต่าง และยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่ใช้เงินงบประมาณในการอุดหนุน หรือแทรกแซงราคา แต่ภาครัฐจะจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว เป็นแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนชาวนาเองก็ต้องปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการผลิต และหันมาปลูกข้าวที่เป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยเช่นกัน

รัฐยันไม่แทรกแซงราคา-กลไก
               นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และควบตำแหน่งที่ปรึกษาปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือ จะไม่ใช้เงินงบประมาณในการเข้าไปอุดหนุน หรือแทรกแซงทั้งราคาและกลไกตลาดข้าว แต่การใช้เงินช่วยเหลืออาจจะเป็นในรูปของการลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย โดยจะมุ่งส่งเสริมด้านการพัฒนาคุณภาพข้าว การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอื่นๆ ซึ่งคาดว่ายุทธศาสตร์ข้าวที่จะเป็นแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย น่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ ส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวคือ การจัดทำโซนนิ่งสินค้าเกษตร ด้วยการจัดทำแผนการเพาะปลูกพืชตามพื้นที่ที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของตลาด
               ในด้านการตลาดนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ มียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ดำเนินการต่างๆ ดังนี้ 1.สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว 2.ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้า 3.สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว 4.พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว 5.การสร้างนวัตกรรมข้าว และ 6.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในอาเซียน และเป็นผู้ชี้นำราคาข้าวในตลาดโลก
               "อยากฝากบอกชาวนาว่าทางเลือกในการปลูกข้าวมีอยู่หลายแนวทาง รวมทั้งแนวทางในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งแนวทางหนึ่งนั้น ก็คือการปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ หรือข้าวอินทรีย์ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วว่าสามารถทำได้จริง ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์สามารถผลิตข้าวได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และยังมีกำไรได้มากกว่าการปลูกข้าวในลักษณะทั่วไปอย่างปัจจุบัน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ตลอดจนสร้างอาชีพให้มีความยั่งยืน และมั่นคงได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องใดๆ จากภาครัฐ" นางจินตนากล่าว
               อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวทางการปรับตัวนี้ ภาครัฐเองจะเป็นตัวกลางในการประสานเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพราะแนวทางการลดต้นทุนด้วยการปลูกข้าวปลอดสารนี้ ซึ่งมีตลาดรอรับซื้อที่แน่นอน มีรายได้ต่อครอบครัวที่แน่นอน ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพข้าว ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีกับชาวนาแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ที่ข้าวปลอดสารนี้จะไม่มีสารพิษตกค้างใดๆ
               ในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท ซึ่งพยายามทำให้ชาวนาได้รับรู้ถึงแนวทางการลดต้นทุนว่าสามารถทำได้เอง โดยเน้นการผลิตข้าวที่ตลาดมีความต้องการดูแลในด้านสุขภาพ ซึ่งยืนยันว่าตลาดที่มีความต้องการซื้อข้าวปลอดสารนั้นมีแน่นอน และได้ราคาดีด้วย ขณะเดียวกันการลดต้นทุนอย่างเดียวก็อาจจะยังไม่เพียงพอ ก็จะต้องเพิ่มผลผลิตข้าวด้วย ซึ่งเมื่อขายได้ราคาดีในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็จะมีกำไรมากขึ้น และทำให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ชูปลูกข้าวปลอดสาร-ต้นทุนต่ำ
               ดังเช่นแนวทางการทำนาของเกษตรกรมือใหม่วุฒิปริญญาโท ที่ผันตัวเองจากการทำงานออฟฟิศในต่างประเทศ มาเป็นชาวนาเต็มตัว จากการลองผิดลองถูกมานานถึง 5 ปี แต่ปัจจุบันสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างพอเพียง เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำนาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำได้จริง ตลอดจนมีการจัดหาตลาดรับซื้อข้าวกล้องปลอดสาร ภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมคุณยาย” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
               "กานต์ ไตรทอง" และ “นิศารัตน์ นาครักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด เล่าว่า ปัจจุบันมีที่นาเป็นของตัวเองอยู่ 50 ไร่ รวมถึงนาฝากจากกลุ่มเพื่อนอีก 20 ไร่ รวมเป็น 70 ไร่ อีกทั้งยังมีเครือข่ายชาวนาในกลุ่มของตนเองอีกกว่า 100 ไร่ รวมเป็นเกือบ 200 ไร่ ปลูกข้าวปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ โดยยืนยันว่าการปลูกข้าวปลอดสารด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมที่มีมานานสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย นั้นใช้ต้นทุนที่ต่ำ อีกทั้งลงมือทำนาด้วยตนเอง ไม่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ถือเป็นชาวนาแท้จริงไม่ใช่เป็นผู้จัดการนาอย่างที่ส่วนใหญ่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน
               “ต้นทุนการผลิตของเราเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดในกลุ่มเราพบว่ามีสูงถึง 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และผมรับซื้อข้าวจากชาวนาในกลุ่มในราคา 12,000 บาทต่อตัน ที่ความชื้น 15% และ 10,000 บาทต่อไร่ ที่ความชื้น 19% ทำให้ยืนยันได้ว่าการทำนาในแบบนี้มีกำไรได้อย่างแน่นอน” นายกานต์กล่าว
               หลังจากเมื่อมีความคิดที่จะผลิตเอง และจำหน่ายเอง "กานต์" จึงได้ตั้งบริษัทขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันทำครบวงจร ทั้งกระบวนการปลูก การเก็บรักษาข้าว การสีข้าว บรรจุ และทำตลาดเองโดยเน้นการตลาดทุกช่องทาง ทำให้มีมูลค่าเพิ่มตามขั้นตอนของมันเอง และเชื่อว่าการที่ผลิตสินค้าคุณภาพในทุกขั้นตอนแล้ว และทำอย่างมีความสุข ผู้บริโภคก็จะสามารถสัมผัสได้และเชื่อว่ามีความคุ้มค่ากับการจ่ายเงินเพื่อซื้อข้าวปลอดสารที่ผลิตขึ้น
               ทั้งนี้ ในด้านตลาด ข้าวหอมคุณยาย เน้นผลิตข้าวกล้องปลอดสารพิษเพื่อขายให้แก่คนไทย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 กว่าบาท ซึ่งทั้งคู่เริ่มทำนามา 5 ปี และเริ่มทำบริษัทมากว่า 3 ปี เขาบอกว่ามีอัตราการเติบโตปีละ 300% และปัจจุบันส่งออกไปสิงคโปร์ด้วย และเน้นทำการตลาดทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป้าหมายของการทำนาครบวงจรของ กานต์ และนิศารัตน์ ยังไม่ถึงเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ แต่ทั้งคู่ได้พูดคุยกันว่าจะไม่รีบที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย นั่นคือ การขายข้าวกล้องปีละ 360 ตัน หรือวันละ 1 ตัน และการจะไปถึงเป้าหมายได้ก็ต้องมีเครือข่ายที่จะผลิตข้าวกล้องป้อนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 400 ไร่
               กานต์ บอกด้วยว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ข้าวหอมคุณยายคือ สามารถระบุแหล่งที่มาได้เลยว่า ชาวนาคนไหนปลูกข้าวถุงนั้นๆ เหมือนการตรวจสอบย้อนกลับ ผ่านบาร์โค้ดที่อยู่หน้าห่อบรรจุข้าว จะทำให้ได้รู้ว่าผู้บริโภคกินข้าวจากนาแปลงใด และมั่นใจในคุณภาพได้ รวมทั้งสิ่งที่เราเน้นสำหรับแบรนด์ข้าวของเราคือ การกินแล้วมีความสุข ซึ่งก็ยืนยันได้ว่าชาวนาในกลุ่มทำนาด้วยกันมีความสุขทุกคน ส่วนที่จะรู้สึกถึงความแตกต่างได้ผู้บริโภคก็จะต้องชิมข้าวเอง จึงจะรู้ถึงความแตกต่าง หากมองด้วยตาเปล่าหรือแค่สัมผัสคงไม่เห็นความแตกต่าง
ชาวนาเปลี่ยนได้เองไม่ต้องรอรัฐ
               ส่วนกรณีที่ชาวนาบอกว่าขายข้าวแล้วไม่มีกำไร ขาดทุน เพราะมีต้นทุนสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่นั้น กานต์บอกว่า คงต้องถามว่าเป็นชาวนาหรือผู้จัดการนา ซึ่งการเป็นชาวนาก็ต้องทำนาเอง ซึ่งเราทุกคนขับรถไถนาเอง ฉีดสารป้องกันแมลงกันเอง ปลูกข้าว และดูแลรักษากันเอง ซึ่งข้าวจะมีความสมบูรณ์แข็งแรง เพียงแต่ต้องใช้เทคนิคการดูแลรักษา ไม่ทิ้งขว้าง มีความรู้ความเข้าใจในแง่วิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อ เพื่อให้การปลูกข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รู้ว่าข้าวต้องการสารอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น
               นายกานต์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเจ้าเดียวในจังหวัดสระบุรีหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่ามีชาวนาที่มีแนวคิดเหมือนตนนี้อยู่หลายรายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีชาวนาสนใจต้องการข้อมูล ตนก็ยินดีโดยไม่จำเป็นต้องมาเป็นเครือขายของกลุ่มตนก็ได้ หรือหากจะเข้ามาเป็นเครือข่ายก็จะต้องมีการพูดคุยกันก่อนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนปลูกข้าว เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน
               อย่างไรก็ตาม การจูงใจให้ชาวนารายอื่นหันมาปลูกข้าวอินทรีย์นั้น ยืนยันว่าไม่จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการอะไร ขึ้นอยู่กับชาวนาเองมากกว่า ว่าจะตัดสินใจตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร หากชอบชีวิตที่เป็นอยู่นี้แล้วคิดว่ามีความสุข ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หากคิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่นี้ไม่มีความสุข และอยากเปลี่ยน เชื่อว่า องค์ความรู้ต่างๆ มีอยู่เต็มประเทศไทย และไม่ต้องรอให้ใครเข้ามาช่วยเหลือ ก็สามารถเริ่มได้เลย หากจะรอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ตนกลับมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา
               “การที่ชาวนาทั่วไปต้องการจะเปลี่ยนตัวเองจากการปลูกข้าวแบบเดิมๆ มาผลิตข้าวปลอดสารพิษด้วยต้นทุนที่ต่ำแบบนี้ ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอปรับหน้าดิน หรือเตรียมเพราะเราเป็นข้าวปลอดสาร เพียงอย่าเผาฟาง เพราะฟางจะเป็นปุ๋ยหมักที่ดีที่สุด และต้นทุนถูกที่สุด ส่วนความเชื่อว่าที่ฟางมีเยอะจะทำให้ดินเสียนั้นไม่เป็นความจริง และจุลินทรีย์ในธรรมชาติจะทำงานได้ดีกว่าที่คิดไว้เยอะมาก” กานต์กล่าว และยืนยันว่า ความต้องการข้าวปลอดสารมีอยู่มาก แต่ผู้บริโภคหาซื้อไม่ค่อยได้เท่านั้น และปัจจุบันตนจำหน่ายข้าวแบรนด์ ข้าวหอมคุณยาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ ที่ผู้จัดซื้อจากสิงคโปร์ซื้อข้าวและส่งไปจำหน่ายตามร้านค้าเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์
               อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญคือ ชาวนาต้องปรับตัว เปลี่ยนทัศนคติ และเปลี่ยนความคิด ซึ่งการทำนาเองจะทำอย่างไรเสียก็มีกำไรแน่นอน
               “ผมอยากเห็นลูกหลานชาวนามาช่วยกันทำนา อยากให้กลับมาทำนา ประเทศไทยเราเคยทำนาดีๆ มาเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว และวันหนึ่งเราเปลี่ยนมาทำนาแบบเป็นทุกข์ แล้วการที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมจะยากนักหรือ และการเปลี่ยนก็ไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นวิธีเดิมๆ ที่เราประสบความสำเร็จกันมาแล้ว แค่เปลี่ยนทัศนคติก็เริ่มได้เลย” กานต์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา  http://www.komchadluek.net/news/economic/193440
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น