วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชาวนาจะเลือก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (ปุ๋ยเคมี)




          หากเอ่ยคำว่า ปุ๋ย ทุกคนย่อมเข้าใจว่า  "ปุ๋ย เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญเพื่อการเติบโตของพืชทุกชนิด ช่วยปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ปุ๋ยเป็นสาร หรือสิ่งซึ่งเราใส่ลงไปในดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้พืชโดยเฉพาะ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ให้พืชได้รับสารอาหารอย่างอย่างเพียงพอ เพื่อทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามดี และให้ผลิตผลสูงขึ้น






           แล้วสารอาหารต่างๆ ที่พืชต้องการนั้น จะต้องมีธาตุอาหาร 16 ชนิด ซึ่งได้แก่ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน

โดยที่ออกซิเจน ไฮโดรเจน และคาร์บอนนั้น พืชจะได้รับจากน้ำ และอากาศ 

           ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่นๆ (ซึ่งถูกจัดเป็นธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ย) และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี : http://th.wikipedia.org/wiki/ปุ๋ย






   โดยปุ๋ยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอนินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งที่มีชีวิต และสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังรวมถึงมูลสัตว์ต่างๆ ด้วย ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์จะได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด
     1.1 ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่เกิดจากเศษพืชต่างๆ เช่น หญ้าและใบไม้ ต้นถั่ว ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด เปลือกถั่วต่างๆ ใบจามจุรี ฟางข้าว ผักตบชวา เมื่อนำมากองหมักไว้จนเน่าเปื่อยก็ใช้เป็นหมักได้ 
     1.2 ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งที่สัตว์ขับถ่ายออกมา เช่น อุจาจาระ ปัสสาวะของสัตว์ต่างๆ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เป็นต้น
     1.3 ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว เมื่อพืชเจริญเติบโตถึงระยะหนึ่ง เราก็ไถกลบในขณะที่พืชยังเขียวและสดอยู่ ซึ่งมักจะไถกลบในช่วงที่พืชกำลังออกดอก เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การให้ธาตุอาหารแก่พืชมากที่สุด






ปุ๋ยอนินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งไม่มีชีวิต ส่วนมากมีอยู่ตามธรรมชาติแล้วผลิต หรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรมจากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิดขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ย เช่น หิน แร่  หรือที่เรียกกันว่า ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยปกติจะเรียกกันว่า ปุ๋ยเคมี โดยสามารถแบ่งปุ๋ยเคมีตามส่วนประกอบของธาตุอาหารหลักที่มีอยู่ในปุ๋ยเป็น 2 ประเภท คือ ปุ๋ยเดี่ยว และปุ๋ยผสม
     2.1 ปุ๋ยเดี่ยว หรือแม่ปุ๋ย คือ ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K เป็นส่วนประกอบของปริมาณธาตุอาหารจะคงที่
     2.2 ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่ได้จากการเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิด มารวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารหลักของปุ๋ยตามต้องการเพื่อให้เหมาะตามสภาพดินในแต่ละพื้นที่

โดยธาตุอาหารที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในปุ๋ยเคมีจะอยู่ในรูปสารอาหารที่พืชสามารถดูดกินได้ทันทีเมื่อละลายน้ำ หรือใส่ลงดิน เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ เป็นต้น ปุ๋ยเคมีสามารถแบ่งได้เป็น

(1) ปุ๋ยไนโตรเจน (N) : ในปุ๋ยเคมีจะอยู่ในรูปแอมโมเนียม หรือไนเตรต หรือยูเรีย
(2) ปุ๋ยฟอสฟอรัส  (P)   
(3) ปุ๋ยโพแทสเซียม (K) 






ทำไมต้องใส่ปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูก

จุดประสงค์หลักก็เพื่อการชดเชยธาตุอาหารในดินที่หายไป เนื่องจากพืชที่ปลูกได้นำสารอาหารต่างๆ ในดินไปใช้เพื่อการเติบโต และผลผลิตต่างๆ ดังนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่ จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ซึ่งหากใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อาจจะต้องใช้ในปริมาณมาก, พืชไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีต้องให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลาย ซึ่งจะมีอัตราในการย่อยสลายช้า  และการปรับปริมาณการใช้เพื่อให้เกิดความสมดุลของแต่ละธาตุอย่างเหมาะสมค่อนข้างยาก





ที่มา Kaset Be-easy : https://goo.gl/GB8KCG





ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ 
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น